ทันตกรรมสำหรับเด็ก
คลินิกทันตกรรมวิลเด็นท์ (Will Dent Dental Clinic)
คลินิกทันตกรรมครบวงจร ดูแลฟันสวย ส่งต่อรอยยิ้มที่มั่นใจ
หมอฟันเด็กคือใคร
หมอฟันเด็ก หรือ ทันตแพทย์เฉพาะทางทันตกรรมสำหรับเด็ก คือ ทันตแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญทางทันตกรรมเด็ก หรือการทำฟันเด็กโดยเฉพาะ สามารถให้การรักษาในเด็ก ได้ตั้งแต่ฟันน้ำนมซี่แรกขึ้น ไปจนถึงอายุประมาณ 15 ปี โดยหมอฟันเด็ก จะมีความเข้าใจในพฤติกรรมของเด็ก รวมถึงจะต้องมีจิตวิทยาในการสื่อสารกับเด็ก เนื่องจากในการทำฟันเด็ก เด็กๆจะมีความกลัว และ ความกังวลมากกว่าในผู้ใหญ่ อีกทั้งความอดทนก็จะต่ำกว่าในผู้ใหญ่ด้วย ซึ่งหมอฟันเด็ก จะสามารถให้การรักษาฟันเด็กได้อย่างนุ่มนวล และ มีวิธีการในการควบคุมความเจ็บปวดอย่างมีคุณภาพ รวมถึงจะมีวิธีในการจัดการกับ ความกลัวการทำฟันของเด็กๆ เพื่อให้เด็กยอมรับการทำฟันได้อย่างราบรื่น


การทำทันตกรรมเด็กต่างจากผู้ใหญ่อย่างไร
โดยเนื้องานจะมีความคล้ายคลึงกัน เช่นในผู้ใหญ่มีขูด อุด ถอน ในเด็กก็มีเหมือนกันค่ะ ก่อนที่จะทำฟันในเด็กได้เราต้องเข้าใจก่อนว่าเด็กไม่ใช่ผู้ใหญ่ตัวเล็กๆ เด็กก็คือเด็ก เพราะฉะนั้นความแตกต่างจริงๆ อยู่ที่กระบวนการรักษาเวลาทำฟันเด็กจะต้องอธิบาย ขั้นตอนการรักษา บอกความจริงกับเค้าทุกอย่าง บอกหรือเล่าเรื่องราวในภาษาที่เค้าเข้าใจ หรือในมุมมองที่เด็กสามารถเข้าใจได้ ดังนั้นหมอฟันเด็กเองจะต้องมีความเข้าใจธรรมชาติของเด็กแต่ละวัย และต้องใช้จิตวิทยาในการทำฟัน ซึ่งเป็นที่มาของการมีทันตแพทย์เฉพาะทางสำหรับเด็กค่ะ
เตรียมตัวลูกมาพบหมอฟันเด็กอย่างไรดี?
ในการเตรียมตัวลูกมาพบหมอฟันเด็ก โดยเฉพาะในการพบหมอฟันครั้งแรก เพื่อให้การพบหมอฟันของลูกเป็นไปด้วยความราบรื่น คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยหมอฟันเด็ก ในการเตรียมความพร้อมสำหรับการมาพบกับหมอฟัน เพื่อให้เด็กๆ มีประสบการณ์ที่ดีในการทำฟัน โดยเฉพาะในการทำฟันเด็กครั้งแรกนะคะ
มาติดตามดูกันได้เลยนะคะว่าเคล็ดลับง่าย ๆ เหล่านี้มีอะไรบ้าง
1. บอกเด็กๆทุกอย่างตามความเป็นจริง
ให้บอกลูกตามความเป็นจริงว่าจะพามาพบหมอฟัน มาอ้าปากโตๆโชว์ฟันสวยให้คุณหมอทันตกรรมเด็กดู หรือมาให้หมอแปรงฟันให้ เพราะถ้าคุณพ่อคุณแม่บอกว่าจะพาไปร้านของเล่น พาไปสวนสัตว์ แล้วมาโผล่ที่ร้านทำฟัน เด็กๆมักจะไม่ชอบแน่นอนค่ะ
2. ควรให้เด็กมีร่างกายและอารมณ์ที่พร้อมเต็มที่
คุณพ่อคุณแม่สามารถมีส่วนช่วยทำให้การมาพบหมอฟันเด็กผ่านไปได้อย่างราบรื่น และมีส่วนช่วยในการเตรียมให้เด็กมีร่างกาย และอารมณ์ที่พร้อมเต็มที่ เช่น ไม่พาเด็กมาในช่วงที่เป็นเวลานอนกลางวัน เพราะเด็กมักจะงอแงเวลาง่วงนอน ควรให้นอนมาเต็มอิ่ม ตื่นมาจะได้สดใสค่ะ และไม่ควรพาเด็กมาพบหมอฟัน เวลาที่เด็กไม่สบาย ไอ เจ็บคอ เพราะเด็กจะรู้สึกไม่สบายตัว และเวลามีน้ำมูก หรือคัดจมูก เวลานอนตรวจฟันจะทำให้หายใจลำบาก อีกทั้งพร้อมที่จะไม่ให้ความร่วมมือกับหมอฟันเด็กได้ง่ายๆ เลยค่ะ
3. ไม่ควรทานอะไรมาก่อนทำฟัน
คุณพ่อคุณแม่บางท่านกลัวว่าลูกๆมาทำฟันแล้วหลังจากนั้นจะทานอะไรไม่ได้ มักจะให้ลูกทานกันจัดเต็มมาเลย แต่หมอขอบอกว่าไม่ควรทำแบบนั้นนะคะ เพราะเด็กบางคนอาเจียนง่าย และหากเด็กอาเจียนขึ้นมา ก็จะทำให้เด็กมีความรู้สึกไม่ดีกับการทำฟันได้ ทางที่ดีแนะนำว่าควรงดอาหารที่ย่อยยาก และนมก่อนการทำฟันอย่างน้อย 4 ชั่วโมง ในกรณีที่เด็กอาเจียนง่าย เด็กๆสามารถทานน้ำมาได้บ้าง พอเด็กๆทำฟันเสร็จ จะสามารถกินอาหารอ่อนได้เลย หรืองดต่อไปอีกไม่เกินครึ่งชั่วโมงค่ะ
4. คุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นต้องอธิบายกระบวนการทำฟันให้ละเอียดมาก
เช่น ไม่จำเป็นต้องบอกลูกว่าจะไปถอนฟัน หรือ ไม่จำเป็นต้องบอกลูกว่า “เดี๋ยวคุณหมอฉีดยานิดเดียว เจ็บแป๊บเดียว” คุณพ่อคุณแม่ ตั้งใจจะบอกความจริงกับลูกทุกอย่าง หรือบางคนจะคิดว่าบอกลูกให้ลูกเตรียมใจไว้ก่อน ไม่อยากโกหกลูก ซึ่งสำหรับหมอมันเป็นเรื่องที่ดีมากๆค่ะ เพราะตัวหมอเองก็บอกความจริงกับเด็กๆทุกอย่างเช่นเดียวกัน การที่คุณพ่อคุณแม่บอกลูกทั้งหมดแบบนี้ เป็นผลเสียมากกว่าผลดี เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เด็กจะมีจินตนาการเตลิดไปไกล ร้องไห้โวยวายไม่ยอมทำฟันทางที่ดีควรบอกว่าจะมาพบคุณหมอ และเดี๋ยวมาฟังหมอเล่าว่าจะทำอะไรกับฟันกันบ้าง เพราะหมอฟันเด็กทุกคนจะมีวิธีการใช้คำแทนคำพูดที่น่ากลัว เช่น หมอจะเป่าลูกโป่งที่ฟันให้ฟันนอนหลับ (แทนการพูดว่าฉีดยา) หรือหมอจะละลายฟันออกให้หนู (แทนการพูดว่าถอนฟัน) เพื่อให้เด็กๆไม่ต้องตกใจ และเด็กๆมักจะให้ความร่วมมือในการทำฟันมากกว่าค่ะ
5. พ่อแม่อาจจะเล่านิทานหรือเปิดคลิปวิดีโอเด็กๆที่มาพบหมอฟันเด็กให้ดูก่อนมาพบหมอ
การที่เราให้เด็กได้เห็นตัวอย่างเพื่อนๆในวัยเดียวกันมาทำฟัน เด็กๆจะได้เตรียมพร้อมว่าจะต้องเจอกับอะไร
6. เตรียมตัวลูกมาพบหมอฟันเด็กในครั้งแรก ควรพาเด็กมาถึงร้านทำฟันก่อนเวลานัดเล็กน้อย
เพราะคลินิกที่มีหมอเด็กส่วนมากจะมีมุมนั่งเล่นให้เด็กเล่นของเล่น ต่อเลโก้ระหว่างรอทำฟัน คลินิกเรามีก็มีตู้กาชาปองให้เด็กหยอดไข่เล่นรอเพื่อให้เด็กเกิดความผ่อนคลาย และคุ้นชินกับคลินิกก่อนเข้าไปพบคุณหมอฟันเด็กค่ะ
7. คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรใช้หมอฟันเด็กในการขู่ลูก
ประโยคยอดฮิตที่ทำร้ายหมอเหลือเกิน เช่น “ถ้ากินขนมเยอะ เดี๋ยวจะพาไปให้หมอถอนฟันนะ” ซึ่งถึงแม้ว่าจะกินขนมเยอะหรือน้อย อย่างไรก็ต้องมาพบหมอฟันเป็นประจำอยู่แล้ว และถ้าฟันผุ การรักษาก็ไม่ได้มีแค่การถอนฟันเพียงอย่างเดียวนะคะ หรือ “ ถ้ากินลูกอมเดี๋ยวคุณหมอฉีดยาให้เจ็บเลยนะ” ซึ่งบางครั้งการมาพบหมอฟันเด็กก็ไม่ได้ต้องฉีดยาทุกครั้งน้า ข้อนี้สำคัญมากค่ะ หมอเข้าใจว่าไม่ได้ตั้งใจจะเอาหมอฟันมาขู่หรอกค่ะ พ่อแม่คงพยายามทุกวิถีทางแล้วจริงๆ แต่ประโยคเหล่านี้มักจะทำให้เด็กจะรู้สึกว่าการมาหาหมอฟัน จะต้องเป็นอะไรที่น่ากลัวมากแน่ๆ และอาจทำให้เด็กๆมีความกลัวหมอฟันเด็กตั้งแต่ยังไม่เจอคุณหมอฟันเด็กค่ะ
8. ควรพาผู้ที่มีหน้าที่ในการแปรงฟันเด็กมาพบหมอฟันเด็กด้วย
เพราะนอกจากจะตรวจสุขภาพฟันแล้ว คุณหมอมักจะสอนวิธีแปรงฟันและทำความสะอาดช่องปากเด็กด้วย เพื่อจะได้กลับไปทำความสะอาดฟันให้เด็กได้อย่างถูกวิธี คุณพ่อคุณแม่เป็นผู้ที่มีความสำคัญมากในการเตรียมตัวเด็กๆก่อนมาพบหมอฟันเด็ก เพราะฉะนั้นใครที่กำลังเตรียมตัวพาลูกมาพบหมอฟันเด็ก หมอฝ้ายแนะนำไม่ต้องกลัวหรือกังวลมากจนเกินไป เพราะเด็กๆจะสัมผัสได้ ซึ่งจะทำให้เด็กๆกลัวตามไปด้วย ดังนั้นเวลามาพบหมอฟันก็จะให้กระบวนการรักษายุ่งยากมากขึ้น รีบพาน้องๆมาพบหมอฟันเด็กก่อนที่ปัญหาจะเกิด เพื่อที่น้องจะได้มาพบหมอฟันเด็กอย่างสบายใจ มีความสุขกลับไป รวมถึงพ่อแม่ก็จะสบายใจเวลาที่พาลูกๆมาทำฟันกับคุณหมอฟันเด็กค่ะ


เด็กๆควรเริ่มพบหมอฟันเด็กเมื่ออายุเท่าไหร่
สามารถพาเด็กๆมาพบหมอฟันเด็กได้ตั้งแต่แรกเกิด มาเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี ไม่ควรเกินอายุ 1 ปีเพราะการที่คุณพ่อคุณแม่มาพบหมอฟันเด็กจะได้เรียนรู้ และฝึกฝนวิธีการดูแลสุขภาพช่องปากที่ถูกต้อง รวมไปถึงเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาสุขภาพช่องปากตามมาภายหลัง และที่สำคัญคือ ยิ่งพาเด็กๆมาทำฟันเร็ว จะทำให้หมอฟันเด็กสามารถสร้างความคุ้นเคยกับเด็กๆได้ง่าย และการมาตั้งแต่ก่อนเกิดปัญหาในช่องปากก็จะทำให้เด็กๆรู้สึกสนุก และมีความสุขกับการทำฟันเด็กมากยิ่งขึ้นค่ะ เพราะลูกรักฟันดี เริ่มที่ซี่แรก
ทันตกรรมเด็กที่คลินิกทันตกรรมวิลเด็นท์ให้บริการอะไรบ้าง
1. ตรวจฟันเด็ก
การตรวจฟันเด็ก จะมีการให้คำปรึกษา ดูแล ป้องกันปัญหา เป็นการตรวจสุขภาพช่องปาก ไปจนถึงพัฒนาการและแนวโน้มการเจริญเติบโตของฟันของเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุประมาณ 12 ปี ปูพื้นฐานให้เด็กเริ่มรู้จักการดูแลรักษาฟัน กระพุ้งแก้ม ลิ้น เหงือก รวมถึงประเมินความเสี่ยงเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาฟันในอนาคต เช่น โรคฟันผุ โรคเหงือก เป็นต้น

2. ให้คำแนะนำในการดูแลฟันกับผู้ปกครอง
ผู้ปกครองรับคำแนะนำจากหมอฟันเด็ก เพื่อการดูแลรักษาสุขภาพช่องปากของเด็กสำหรับผู้ปกครอง เช่น การทำความสะอาดฟัน การเลือกใช้ยาสีฟัน การใช้ไหมขัดฟัน พฤติกรรมที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดฟันผุ เป็นต้น เพราะฟันน้ำนมเป็นสิ่งที่ควรดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี เพราะฟันน้ำนมอยู่ในทุกๆช่วงของการเจริญเติบโต และพัฒนาการของเด็กๆ
3. สร้างทัศนคติที่ดีให้การดูแลฟันให้กับเด็กและผู้ปกครอง
การพาเด็กมาหาหมอฟันเด็กช่วยสร้างความคุ้นเคยให้กับเด็กในการเข้ามารับการรักษาด้านทันตกรรม โดยหมอฟันเด็กจะค่อยๆ ทำให้เด็กคุ้นชินกับการทำฟัน แนะนำให้รู้จักกับเครื่องมือในการทำฟัน และผูกมิตรกับหมอฟันเด็ก สร้างประสบการณ์ในทางบวกให้กับเด็ก โดยไม่ให้เด็กรู้สึกกลัวการทำฟัน
4. ขูดหินปูน
การขูดหินปูน (Scaling) เป็นการให้บริการทางทันตกรรมเด็ก ด้วยวิธีการทำความสะอาดฟันโดยการขจัดคราบหินปูที่เกาะอยู่บนฟันและซอกฟันให้หลุดออกไป เพื่อป้องกันการเกิดโรคเหงือกที่เกิดขึ้นจากคราบหินปูนเกาะตัวแน่น และสามารถลดการเกิดกลิ่นปากได้อีกด้วย
5. เคลือบฟลูออไรด์เพื่อป้องกันฟันผุ
การเคลือบฟลูออไรด์ (Fluoride treatments) โดย หมอฟันเด็กจะช่วยเสริมความแข็งแรงให้กับฟัน และยังมีประสิทธิภาพในการป้องกันฟันผุ โดยทันตแพทย์จะทำการใช้ฟลูออไรด์ชนิดที่มีความเข้มข้นสูงมาเคลือบไว้บนผิวฟัน และเนื่องจากเด็กมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคฟันผุ ผู้ปกครองจึงควรพาเด็กเข้ารับการเคลือบฟลูออไรด์อยู่สม่ำเสมอพร้อมกับการดูแลช่องปากด้วยการแปรงฟันและใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ด้วย
6. เคลือบหลุมร่องฟันป้องกันฟันผุ
การเคลือบหลุมร่องฟัน (Sealant) เป็นการนำวัสดุมาเคลือบบริเวณหลุ่มและร่องลึกของฟันเพื่อป้องกันแบคทีเรียฝังลึกที่เป็นสาเหตุของการเกิดฟันผุ มักนิยมเคลือบที่บริเวณฟันกรามด้านใน หรือบริเวณที่ทำความสะอาดได้ยาก เนื่องจากเด็กๆอาจยังทำความสะอาดฟันได้ไม่มากพอ การเคลือบหลุมฟันก็จะช่วยอำนวยความสะดวกในการแปรงฟัน และยังป้องกันไม่ให้เศษอาหารเข้าไปติดตามร่องฟันลึกด้วย โดยสามารถทำได้ทั้งฟันกรามน้ำนม และฟันกรามแท้ ซึ่งฟันกรามแท้ของเด็กจะเริ่มงอกเมื่ออายุ 6 – 12 ปี เป็นช่วงวัยที่เหมาะสมในการพาเด็กไปเคลือบหลุมร่องฟัน
7. อุดฟัน
การอุดฟันเด็ก (Tooth Filling) โดยหมอฟันเด็กเป็นการบูรณะฟันด้วยการใช้วัสดุทดแทนเนื้อฟันของเด็กที่ขาดหายไปด้วยสาเหตุของฟันผุจนกลายเป็นรู ให้กลับมาแข็งแรงเหมือนเดิมและป้องกันไม่ให้เกิดฟันผุอีกครั้ง เนื่องจากฟันน้ำนมของเด็กมีชั้นเคลือบฟันน้อยกว่าฟันแท้ จึงมีโอกาสเกิดการผุได้ง่ายกว่า
8. รักษารากฟันน้ำนม
การรักษารากฟันน้ำนม (Root Canal Treatment) เป็นการรักษารากฟันของซี่ที่ผุลึกถึงโพรงประสาท ซึ่งมักจะมีอาการปวด เพื่อรักษาฟันน้ำนมซี่นั้นไว้รอจนกว่าฟันแท้จะขึ้นมา ซึ่งการที่รักษาฟันน้ำนมไว้นั้น จะช่วยให้ฟันแท้ที่จะขึ้นมาแทนที่เรียงเป็นระเบียบตามธรรมชาติ ไม่ผิดปกติ ไม่เกซ้อน และช่วยกำจัดอาการปวดฟันได้ด้วย
9. ครอบฟันในเด็ก
การครอบฟันในเด็ก (Crown) คือ การบูรณะฟันน้ำนมที่ผุมากจนไม่สามารถรักษาด้วยการอุดฟันน้ำนมได้ ต้องการให้ฟันน้ำนมกลับมาใช้งานได้ปกติ ซึ่งจะอยู่ติดกับฟันซี่นั้นไปจนกว่าฟันแท้จะขึ้นและหลุดไปพร้อมกับฟัน ทั้งนี้การครอบฟันยังช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับฟันที่รักษารากฟันมา อีกทั้งยังป้องกันไม่ให้บริเวณอื่นๆของฟันซี่นั้นผุได้อีกด้วย
10. เครื่องมือป้องกันฟันล้ม
เครื่องมือกันฟันล้ม (Space Maintainer) ทำหน้าที่ในการรักษาระยะห่างระหว่างฟันเอาไว้ไม่ให้ลดลงหรือหายไป เพื่อเว้นช่องว่างไว้ให้ฟันแท้ขึ้นได้ตามธรรมชาติ และอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ป้องกันปัญหาฟันเกหรือฟันขึ้นผิดที่ได้ เพราะปัญหาฟันในเด็กมักมีการสูญเสียฟันน้ำนมก่อนกำหนด จึงต้องสวมใส่เครื่องมือป้องกันฟันล้มไว้
11. การจัดฟันในเด็ก
การจัดฟันในเด็ก (Orthodontic Treatment) เป็นการแก้ไขปัญหารูปร่างฟัน จัดระเบียบของฟัน และขากรรไกรที่ผิดปกติให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง เนื่องจากเด็กจะเกี่ยวเนื่องกับปัญหาฟันอยู่ตลอด เช่น ฟันห่าง มีช่องว่างระหว่างฟัน ฟันผุหรือฟันล้ม ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของเด็ก ได้แก่ การรับประทานอาหาร การพูดการสนทนา หรือแม้กระทั่งการทำความสะอาดช่องปากถ้าหากไม่ได้รับการแก้ไขก็อาจส่งผลเสียกระทบถึงฟันแท้ที่จะงอกในอนาคต
12. การถอนฟัน
การถอนฟัน (Extraction) เป็นวิธีการสุดท้ายที่หมอฟันเด็กจะนำมาพิจารณาในการรักษาสุขภาพช่องปาก เมื่อไม่สามารถใช้วิธีการอื่นใดในการรักษาฟันได้แล้ว โดยหมอฟันเด็กจะพิจารณาว่าฟันน้ำนมซี่นั้นยังเก็บไว้ได้หรือไม่ มีอาการรุนแรงในระดับใด เช่น ในกรณีที่ฟันผุไปจนถึงโพรงประสาทไม่สามารถรักษารากฟันได้ หรือในกรณีที่ฟันแท้งอกแต่ฟันน้ำนมยังไม่หลุดออกไป หมอฟันเด็กก็จะทำการถอนฟันซี่นั้น
สิ่งที่สำคัญไม่แพ้ความเชี่ยวชาญในการทำฟันเด็กของหมอฟันเด็ก คือการเตรียมของรางวัลให้หลากหลาย และถูกใจเด็กๆ เพื่อให้เด็กๆกลับบ้านไปพร้อมกับรอยยิ้ม
