รักษารากฟัน

คลินิกทันตกรรมวิลเด็นท์ (Will Dent Dental Clinic)
คลินิกทันตกรรมครบวงจร ดูแลฟันสวย ส่งต่อรอยยิ้มที่มั่นใจ

การรักษารากฟัน คืออะไร ?

การรักษารากฟัน ( Root canal treatment ) คือ การกำจัดเชื้อโรคที่อยู่ในโพรงประสาทฟัน หรือเนื้อเยื่อโพรงประสาทที่มีการอักเสบติดเชื้อออกไป เพราะหากโพรงประสาทฟันบางส่วนถูกทำลายจะต้องทำการเอาออกเพื่อรักษาและทำความสะอาดส่วนที่เหลือให้ปราศจากเชื้อโรค และทำการซ่อมแซมโดยการอุดคลองรากฟันและบูรณะตัวฟัน ทำให้ฟันกลับมาใช้งานได้ตามปกติ การรักษารากฟันเป็นวิธีที่สามารถช่วยรักษาฟันไว้ได้ 

โพรงประสาทฟัน คืออะไร

โพรงประสาทฟัน คือชั้นที่อยู่ด้านในสุดของฟัน ที่ประกอบด้วย เส้นประสาท และเส้นเลือดที่มาเลี้ยง ทำให้เมื่อมีฟันผุลุกลามมาในชั้นโพรงประสาทฟัน จึงทำให้เกิดการอาการปวดฟัน

ปวดฟันแล้วทำไมต้องรักษารากฟันถอนไปเลยได้หรือไม่

เมื่อทันตแพทย์ตรวจแล้วพบว่าต้องรักษารากฟัน หมายความว่าเรายังสามารถที่จะเก็บฟันธรรมชาติไว้กับเราได้ จะช่วยให้การเคี้ยวกลับมามีประสิทธิภาพที่ดีเหมือนเคย สามารถใช้ฟันกัดอาหารได้อย่างปกติ แต่คนไข้ก็สามารถดเลือกที่จะถอนฟันแล้วใส่เป็นฟันปลอมแทนที่ได้ อย่างไรก็ตาม คือการรักษาอาการปวดทั้งคู่ 

สัญญาณเตือนของฟันที่จำเป็นต้อง รักษารากฟัน

1. ฟันที่ผุมาก ผุลึก หรือ ผุมาเป็นระยะเวลานานแล้วยังไม่ได้บูรณะ กรณีนี้ทำให้รอยผุลุกลามไปยังโพรงประสาทฟัน และไม่สามารถทำการอุดฟันด้วยวิธีการปกติได้
2. ฟันที่ได้รับอุบัติเหตุ ฟันที่ได้รับอุบัติเหตุจนทำให้ฟันซี่นั้นตาย ซึ่งเราสามารถสังเกตได้จากสีของตัวฟัน ที่จะมีสีเปลี่ยนไปจากสีของเนื้อฟันปกติเป็นสีดำคล้ำ
3. เกิดฟันแตก ฟันแตกกรณีที่พบได้บ่อย หากแต่ยังไม่ถึงโพรงประสาทฟันยังสามารถบูรณะได้ แต่ถ้าแตกถึงโพรงประสาทฟันแล้วเป็นข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนให้รักษารากฟัน มีสาเหตุหลักมาจากแรงเคี้ยวที่รุนแรง หรือนิสัยการชอบกัดอาหารแข็ง เช่น น้ำแข็ง หรือ กระดูกอ่อน เป็นต้น
4. ฟันที่ต้องได้รับการรักษารากฟัน เนื่องจากการครอบฟัน ในบางกรณีทันตแพทย์อาจพิจารณาส่งรักษารากฟัน ก่อนการครอบฟัน เนื่องจากในกระบวนการกรอแต่งฟันก่อนการครอบฟัน อาจต้องมีการกรอเนื้อฟันออกมาก จนมีโอกาสโดนถูกโพรงประสาทฟัน ทันตแพทย์เฉพาะทางด้านครอบฟัน จึงมีความจำเป็นต้องรักษารากฟันในฟันที่ดังกล่าว เพื่อป้องกันไม่ให้มีอาการปวดเกิดขึ้นหลังจากครอบฟันแล้ว
5. ฟันร้าว ฟันร้าวอาจจะไม่ชัดเจนเท่ากับกรณีของฟันแตก ฟันร้าวนี้มักเกิดขึ้นเนื่องพฤติกรรมชอบกัดของแข็ง หรือใช้ฟันอย่างรุนแรง จนอาจทำให้เนื้อฟันเกิดเป็นรอยแยกหรือเกิดการร้าวได้ โดยรอยร้าวดังกล่าว จะเป็นช่องว่างให้เชื้อโรคจากภายนอก ซึมเข้าสู่ตัวฟัน และเกิดการติดเชื้อบริเวณโพรงประสาทฟัน ทำให้ฟันซี่นั้นๆเกิดการปวดในที่สุด
6. ฟันที่เป็นโรคเหงือก ในผู้ที่มีอาการของโรคเหงือกที่ไม่ได้รับการรักษา อาจพบการติดเชื้อ ย้อนจากบริเวณร่องเหงือกเข้าสู่ปลายรากฟัน ส่งผลให้เกิดการอักเสบของรากฟัน ซึ่งนำไปสู่การรักษารากฟันที่สุด

อาการที่บ่งบอกว่าเกิดปัญหารากฟัน

มักมีสัญญาณเตือนด้วยอาการเจ็บ อยู่เฉยๆก็เจ็บขึ้นมา เจ็บเวลาเคี้ยวหรือกัดอาหาร มีอาการเสียวฟันเมื่อดื่มเครื่องดื่มร้อนหรือเย็น ที่เป็นเช่นนี้ เพราะรากฟันมีส่วนของโพรงประสาทฟันซึ่งเป็นส่วนที่รับสัญญาณความรู้สึก เมื่อโพรงประสาทฟันหรือ คลองรากฟันเกิดการติดเชื้อ จะทำฟันซี่นั้นตายไปจึงเกิดอาการแสดงดังที่กล่าวมาข้างต้น รวมไปถึง ในบางรายอาจมีอาการหน้าบวม รากฟันเป็นหนอง หรือมีตุ่มหนองขึ้นบนเหงือก สีของฟันคล้ำลงได้อีกด้วย ซึ่งลักษณะนี้ทันตแพทย์จะไม่สามารถ อุดฟันได้อย่างเดียว ต้องรักษารากฟันให้เรียบร้อยเสียก่อน

ถ้าไม่ปวดฟัน เพราะอะไรถึงต้องรักษารากฟัน

บางครั้งปัญหารากฟันอักเสบ จากฟันผุ หรือแตกมานาน อาจไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวด หรืออาจเคยปวดแต่หายแล้ว แต่ว่าการดำเนินของโรคก็ยังคงอยู่ มีโอกาสที่จะกลับมาปวดอีกครั้งหรือมีการติดเชื้อมากกว่าเดิม เพราะรากฟันเองยังไม่ได้รับการแก้ปัญหา ซึ่งเมื่อทำการ x-ray และพบว่ามีหนองในรากฟัน ดังนั้นเมื่อตรวจพบควรรีบทำ การรักษารากฟันทันที 

การเตรียมตัวก่อนรักษารากฟัน

เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่ามีฟันผุทะลุโพรงประสาทต้องรักษารากฟัน คุณหมอจะส่งคุณหมอเฉพาะทางที่ทำครอบฟันว่าซี่ดังกล่าวสามารถทำครอบได้หรือไม่ เพราะถ้าทำครอบฟันไม่ได้ การรักษารากฟันอาจไม่มีความหมาย

วิธีการรักษารากฟัน

1. ในครั้งแรกทันตแพทย์มักจะทำร่วมกับการฉีดยาชา จะใช้แผ่นยางบางๆ เพื่อแยกฟัน (Rubber dam) ที่มีปัญหาออกจากฟันอื่น
2. หลังจากนั้นทันตแพทย์จะเอาฟันผุโดยเอาส่วนที่เสียหายออกกำจัดเนื้อฟันที่อักเสบหรือติดเชื้อออกจนถึงส่วนโพรงประสาทฟัน
3. ทำความสะอาดรากฟัน และใส่ยาลง ไปในคลองรากฟัน
4. ปิดรากฟันด้วยวัสดุอุดชั่วคราว เพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ 

อย่างไรก็ตาม วิธีการรักษารากฟัน ในบางรายไม่ได้จบในครั้งเดียวจำเป็นต้องใช้เวลาหลายครั้งในการทำความสะอาด รวม ถึงเปลี่ยนยาในคลองรากฟันเพื่อฆ่าเชื้อจนกว่าการติดเชื้อ หรือการอักเสบจะหายเป็นปกติ
5. เมื่อพบว่าไม่มีการอักเสบแล้ว ทันตแพทย์ก็จะอุดปิดคลองรากฟัน และใส่เดือยฟัน เพื่อเป็นแกนเสริมสร้างความแข็งแรง เพื่อการทำครอบฟันซึ่งเป็นขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้อาจต้องขึ้นกับสภาพเนื้อฟันที่เหลืออยู่มาร่วมพิจารณา

รักษารากฟันที่ไหนดี

แนะนำเป็นที่ที่มีคุณหมอเฉพาะทางด้านรักษารากฟัน และคุณหมอเฉพาะทางด้านครอบฟัน ที่สำคัญคือเรื่องการพยากรณ์ของฟันซี่นั้น ( prognosis ) ว่ารักษาแล้วเป็นอย่างไรบ้าง เพราะถ้าการพยากรณ์ของฟันซี่นั้นไม่ดีและฝืนทำไป ฟันซี่ดังกล่าวก็อาจต้องโดนถอนได้ การปรึกษากับคุณหมอจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

อาการหลังรักษารากฟันมีอะไรบ้าง

หลังจากรักษารากฟันเสร็จใหม่ ๆ คนไข้อาจจะมีอาการหลังรักษารากฟันได้ คือ เจ็บ ในช่วง 2-3 วันแรก อาจร่วมกับการบวมของเหงือกด้วยแต่อาการเจ็บจะค่อยๆ ทุเลาและจางหายไปเอง สามารถบรรเทาได้ด้วยยาระงับปวดทั่วไป

การดูแลรักษาหลังการรักษารากฟัน

– ไม่ควรรับประทานอาหารในทันที ควรงดรับประทานอาหารจนกว่าอาการชาที่ใช้จะหมดไป ป้องกันการกัดลิ้นหรือกระพุ้งแก้ม
– ควรระมัดระวังในการใช้งานซี่ฟันที่รักษารากฟัน งดเคี้ยวหรือกัดอาหารด้วยฟันซี่ที่รักษารากฟัน อาจทำให้ฟันแตกหรือหักได้
– ในกรณีที่วัสดุอุดฟันชั่วคราวเกิดหลุด ให้กลับมาพบทันตแพทย์ทันที เพื่อป้องกันเชื้อโรคในช่องปากที่สามารถเขาสู่ภายในคลองรากฟันได้
– ควรมาตามนัดทันตแพทย์ เพื่อลดโอกาสเสี่ยงถอนฟันซี่นั้นออกในอนาคต 

เปรียบเทียบระหว่าง รักษารากฟัน กับถอนฟัน มีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร?

เพื่อช่วยเปรียบเทียบและเป็นข้อมูลสำหรับการตัดสินใจระหว่างทำการรักษาด้วย วิธีรักษารากฟัน กับวิธีถอนฟันและใส่ฟันปลอม มาดูข้อดี และข้อเสีย ของแต่ละวิธีได้ดังต่อไปนี้ค่ะ

1. รักษารากฟัน
ข้อดี
– เก็บรักษาฟันเอาไว้ได้
– เบ้ากระดูกฟันไม่ยุบตัว
– ได้ความสวยงามตามธรรมชาติมากกว่าการใส่ฟันปลอม
– สะดวกสบายกว่าการใส่ฟันปลอม

ข้อเสีย
– ราคาสูงกว่าการถอนฟัน
– ใช้เวลานานกว่า

2. ถอนฟันและใส่ฟันปลอม

ข้อดี
– ใช้ระยะเวลาสั้นกว่า
– ราคาถูกกว่า

ข้อเสีย
– สูญเสียฟันแท้ตามธรรมชาติไป
– อาจเกิดการยุบตัวของกระดูกเบ้าฟัน

ความสะดวกสบายและความสวยงามของฟันปลอม จะไม่เหมือนฟันแท้ตามธรรมชาติ ทั้งนี้ในฟันแต่ละซี่ อาจไม่สามารถมีแผนการรักษาเหมือนกันได้ทั้งหมด ฟันบางซี่อาจไม่สามารถเก็บรักษาโดยการรักษารากฟันได้ แต่ถ้าหากฟันซี่ดังกล่าวสามารถรักษารากฟันเพื่อเก็บฟันเอาไว้ได้ ก็จะเป็นวิธีที่ดีกว่าการถอนฟันและใส่ฟันปลอมนั่นเอง

คำถามการรักษารากฟันที่พบบ่อย

รักษารากฟันเจ็บไหม ?
การรักษารากฟันเจ็บ เพราะฟันทุกซี่มีเส้นประสาท แต่อาการเจ็บมากเจ็บน้อยแต่ละคนต่างกัน แต่ในขบวนการรักษารากฟัน มีการฉีดยาชาเข้าร่วมในระหว่างการรักษาอยู่แล้ว จึงไม่รู้สึกเจ็บระหว่างการรักษา อาจจะรู้สึกตึงๆ บ้างระหว่างทำ

รักษารากฟันจัดฟันได้ไหม ?
จัดได้ตามปกติ และควรต้องรีบรักษารากฟันให้เสร็จก่อนถึงจะเริ่มจัดฟันได้ เพราะถ้าฟันซี่นั้นมีการติดเชื้อ และได้รับการจัดฟัน การเคลื่อนฟันยิ่งจะส่งผลเสียต่อฟันซี่นั้นมากยิ่งกว่าเดิม

ถอนฟันทิ้ง แทนการรักษารากฟันดีกว่าไหม ?
ฟันแท้ถือเป็นสิ่งมีค่า และมีความมั่นคงแข็งแรง ใช้งานได้อย่างเป็นตามธรรมชาติ ไม่มีฟันเทียมชนิดใดดีไปกว่าฟันของเราเอง ดังนั้นหากเกิดปัญหาสุขภาพฟันและการรักษารากฟันยังสามารถเก็บฟันของเราไว้ได้ นั้นเป็นที่สิ่งที่เราอยากแนะนำ เพราะการถอนฟันทิ้งไปเลยไม่ใช่การจบปัญหา เพราะในสุดท้ายแล้วยังมีปัญหาของช่องว่างระหว่างฟันที่ส่งผลให้เกิดความล้ม ฟันเอียงตามมาได้ 

รักษารากฟัน กี่วันหายปวด
บางครั้งทันตแพทย์อาจสามารถรักษารากฟันเสร็จได้ในครั้งเดียว ในกรณีที่การติดเชื้อไม่ลุกลามรุนแรง หากไม่มีอาการอื่นๆแทรกซ้อน ใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 2-3 สัปดาห์ จึงจะหายปวด และกลับมาเป็นปกติ

รักษารากฟัน ใช้เวลานานไหม
โดยมากใช้เวลา 2-3 ครั้งในการมาพบทันตแพทย์ ห่างกัน 1-2 สัปดาห์ ขึ้นกับสภาพการติดเชื้อของฟันซี่นั้นว่ามากน้อยเพียงใด บางกรณีที่มีการติดเชื้อหรือหนองปลายรากมาก อาจต้องใช้เวลามารักษามากกว่านั้น บางกรณีเชื้อโรคยังไม่ลงบริเวณปลายรากมากนัก อาจใช้เวลารักษาแค่วันนั้นวันเดียว

ภายหลังการรักษารากฟัน ทำไมต้องใช้ที่ครอบฟันอีก
หลังจากทำการรักษารากฟัน ทันตแพทย์มักทำครอบฟันให้เพื่อป้องกันการแตกหักของตัวฟัน เนื่องจากการักษารากฟันมีความซับซ้อน และไม่ได้เสร็จสิ้นในครั้งเดียว ดังนั้นจึงใส่ที่ครอบฟันไว้เพื่อป้องกันการแตกของฟัน