อาการ นอนกัดฟัน (Bruxism) คืออะไร?
อาการนอนกัดฟัน เป็นหนึ่งในความผิดปกติของการนอน (Sleep Disorders) โดยระบบบดเคี้ยวทำงานผิดปกติในขณะที่นอนหลับ ส่งผลให้กล้ามเนื้อที่ใช้บดเคี้ยวหดตัวผิดปกติ และทำให้เกิดการกัดฟัน บดฟัน หรือขบเน้นที่ฟันตามมาโดยไม่รู้ตัว

ลักษณะอาการกัดฟันขณะนอนหลับ
ลักษณะของการกัดฟันขณะนอนหลับจะมี 2 รูปแบบหลัก ๆ ดังนี้
1. กัดฟันแบบมีเสียง: เป็นอาการกัดฟันแบบขบเน้นที่ฟันแน่น ๆ หรือใช้ฟันบนล่างบดถูไถซ้ำกันไปมาในขณะนอนหลับ และทำให้เกิดเสียงกัดฟันตามมา โดยในผู้ที่มีอาการกัดฟันอย่างรุนแรง อาจเกิดอาการดังกล่าวได้มากกว่า 100 ครั้งต่อคืน
2. กัดฟันแบบไม่มีเสียง: เป็นอาการกัดฟันแบบกัดแน่น ไม่มีการถูไถไปมา จึงไม่ทำให้เกิดเสียง

นอนกัดฟันเกิดจากสาเหตุใด?
ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าอาการนอนกัดฟันเกิดจากสาเหตุใด แต่พบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับหลาย ๆ ปัจจัย เช่น
1. พันธุกรรม
2. ความเครียด หรือวิตกกังวล
3. ผลข้างเคียงจากการรับประทานยาที่ช่วยปรับสารในสมอง
4. ผลกระทบจากโรคที่ทำให้กล้ามเนื้อทำงานผิดปกติ เช่น โรคพาร์กินสัน (Parkinson)
5. เกิดจากความผิดปกติของการนอนหลับอื่นๆ (Sleep disorders) เช่น อาการหยุดหายใจขณะนอน (Obstructive sleep apnea) หรือนอนกรน
6. อายุ โดยในวัยเด็กจะมีอาการนอนกัดฟันมากกว่าผู้ใหญ่ และส่วนใหญ่มักหายได้เองเมื่อโตขึ้น

ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการกัดฟันขณะนอนหลับ
สำหรับใครที่ไม่มั่นใจว่าตนเองมีอาการกัดฟันขณะนอนหลับไหม คุณสามารถสังเกตอาการตนเองได้ง่าย ๆ จากการอัดเสียงขณะนอนหลับ, สอบถามผู้ที่นอนข้าง ๆ หรือดูได้จากผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการกัดฟัน ดังนี้
1. ฟันสึก ฟันสั้นลง หรือคอฟันสึกเป็นร่องจนทำให้มีอาการเสียวฟันตามมา

2. ฟันบิ่น ฟันแตก หรือฟันร้าว จนทำให้มีอาการปวดฟัน ไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้
3. มีอาการปวดเมื่อย หรือเจ็บตึงบริเวณแก้ม หรือหน้าหู
4. ข้อต่อขากรรไกรขยับลำบาก ติด ๆ ขัด ๆ มีอาการกรามข้าง หรือรู้สึกเจ็บจนอ้าปากไม่ได้
5. บางคนอาจมีอาการกระดูกกรามขยายใหญ่เป็นปุ่มกระดูกนูน หรือกล้ามเนื้อบริเวณแก้มทั้งสองข้างขยายใหญ่ขึ้น จนทำให้ใบหน้ากางออกเป็นเหลี่ยม

แนะนำแนวทางรักษาและวิธีแก้ นอนกัดฟัน ที่ถูกต้อง
หากคุณพบว่าตนเองมีอาการที่เกิดจากผลกระทบของการกัดฟัน ควรรีบไปพบหมอ หรือทันตแพทย์เพื่อตรวจยืนยันอาการ และหาวิธีแก้นอนกัดฟันที่เหมาะสมกับตนเอง เพื่อช่วยบรรเทาให้อาการกัดฟันทุเลาลง ก่อนที่ปัญหาช่องปากต่าง ๆ จะรุนแรงขึ้นจนกระทั่งตอนถอนฟัน หรือผ่าตัดขากรรไกร

สำหรับวิธีการรักษาอาการกัดฟันนั้น จะมีอยู่ 3 วิธีหลัก ๆ ดังนี้

1. ใส่เฝือกสบฟัน แก้ปัญหา นอนกัดฟัน
เฝือกสบฟัน (Occlusal Splint) จะมีลักษณะคล้าย ๆ กับเครื่องมือพิมพ์ฟัน หรือรีเทนเนอร์ใส แต่จะออกแบบมาเพื่อรักษาอาการกัดฟันโดยเฉพาะ มีลักษณะคั่นอยู่ระหว่างขากรรไกรบนและล่าง สามารถถอดออกมาล้างทำความสะอาดได้ โดยทันตแพทย์จะให้ใส่เฝือกสบฟันในระหว่างที่นอนหลับ เพื่อป้องกันความเสียหายของฟันจากการกัดฟัน
หลังจากใส่เฝือกสบฟันแล้ว ทันตแพทย์อาจแนะนำให้ฝึกวางตำแหน่งของปาก หรือขากรรไกรให้เหมาะสมที่สุดสำหรับแต่ละคนด้วย ซึ่งวิธีนี้ก็จะช่วยให้อาการกัดฟันค่อย ๆ ดีขึ้นได้เช่นกัน

2. รักษาด้วยการบำบัดจิตและปรับพฤติกรรมให้เหมาะสม
นอกจากใส่เฝือกสบฟันเพื่อป้องกันฟันไม่ให้สึก หรือบิ่นแล้ว ผู้ที่มีความเครียด หรือรู้สึกวิตกกังวลเป็นประจำก็ควรจะหากิจกรรมเพื่อผ่อนคลายความเครียด รวมถึงฝึกจัดการความเครียดของตนเองให้ดีขึ้น เนื่องจากความเครียดและวิตกกังวลเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สามารถทำให้เกิดอาการกัดฟันได้
สำหรับกิจกรรมที่ช่วยให้ผ่อนคลายนั้น ควรเน้นไปที่การพักผ่อนให้เพียงพอ ฟังเพลงเบา ๆ ทำสมาธิ หรือการออกกำลังกายเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรที่จะพักผ่อนโดยการเล่นเกม หรือใช้สื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เพราะเป็นกิจกรรมที่ทำให้กล้ามเนื้อบางส่วนเกร็ง ไม่ใช่การพักผ่อนจริง ๆ

3. รักษาด้วยยา
ในผู้ที่มีอาการกัดฟันขณะนอนหลับรุนแรงมากจนทำให้เฝือกสบฟันแตก อาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการใช้ยาคลายกล้ามเนื้อขณะนอนหลับ หรือฉีดโบทูลินัมท็อกซินเอ (Botulinum Toxin A) หรือที่รู้จักกันดีในชื่อโบท็อกซ์ (Botox) ที่บริเวณกรามทั้งสองข้าง ก็จะช่วยให้อาการกัดฟันดีขึ้นได้