ฟันแบบไหนควรจัดฟัน?

ฟันแบบไหนควรจัดฟันนั้น สามารถประเมินเบื้องต้นได้ง่าย ๆ โดยดูว่า ฟันที่มีการเรียงตัวผิดปกติจะส่งผลต่อการทำความสะอาดได้ยากขึ้นไหม ฟันบนและฟันล่างสบกันพอดีหรือเปล่า หรือฟันมีลักษณะที่ไม่สวยงามจนสูญเสียต่อความมั่นใจหรือไม่ หากมีปัญหาฟันเหล่านี้ ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อทำการประเมิน และเลือกวิธีจัดฟันที่เหมาะสมกับตนเองตั้งแต่เนิ่น ๆ ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เพราะอาจทำให้เกิดโรคฟันและช่องปากต่าง ๆ ตามมาได้

เช็กลิสต์! 7 ลักษณะฟันที่ควรรักษาด้วยการจัดฟัน

เพื่อช่วยให้คุณประเมินฟันของตนเองได้ง่ายขึ้น เราได้รวบรวม 7 ลักษณะฟันที่ควรรักษาด้วยวิธีการจัดฟันมาไว้ที่นี่แล้ว ฟันแบบไหนควรจัดฟัน? ฟันที่ควรจัดมีลักษณะแบบไหน? ไปดูกันเลย

1. ฟันซ้อน (Crowding)
ฟันซ้อน เป็นลักษณะของฟันที่งอกมากเกินไป หรือขึ้นผิดตำแหน่ง อาจขึ้นซ้อนกันได้ทั้งด้านในและด้านนอก และมักมีการขึ้นที่ผิดรูปร่าง และไปเบียดฟันข้างเคียงให้เบี้ยวไปทางใดทางหนึ่งจนทำให้เกิดฟันเกได้

2. ฟันห่าง (Spacing)
ฟันห่าง เป็นลักษณะของฟันที่มีช่องว่างระหว่างฟันมากกว่า 0.5 มิลลิเมตรขึ้นไป ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ขนาดฟันเล็กกว่าขนาดกระดูกขากรรไกร เมื่อฟันงอกขึ้นมาแล้ว จึงทำให้เกิดช่องว่างระหว่างฟัน หรือเกิดอุบัติเหตุจนทำให้สูญเสียฟัน เป็นต้น

3. ฟันกัดเบี้ยว (Midline Shift)
ฟันกัดเบี้ยว เป็นลักษณะฟันซี่ตรงกลางของฟันบนและฟันล่างไม่ตรงกัน หรือช่วงจุดศูนย์กลางของฟันบนและฟันล่างเหลื่อมกัน ส่งผลให้ใบหน้ามีรูปร่างไม่สมดุล และทำให้ประสิทธิภาพการเคี้ยวอาหารแย่ลง

4. ฟันสบเปิด (Open bite)
ฟันสบเปิด หรือฟันหน้าไม่สบกัน สังเกตได้จากการขบฟัน หรือกัดฟันลงมาแล้วจะมีช่องว่างระหว่างฟันบนและฟันล่างมากเกินไป ส่งผลเสียให้กัดอาหารไม่ขาด ออกเสียงบางคำไม่ชัด และในผู้ที่ฟันสบเปิดมาก เมื่อยิ้มแล้วจะเห็นเป็นโพรงเหมือนอ้าปากตลอดเวลา และทำให้เสียบุคลิกภาพด้วย

5. ฟันกัดคร่อม (Crossbite)
ฟันกัดคร่อม เป็นลักษณะของฟันบนและฟันล่างที่สบกันไม่พอดี เมื่อกัดฟันแล้วจะดูเหมือนฟันเยื้อง หรือดูเลื่อมกัน เกิดขึ้นได้จาก 2 สาเหตุหลัก ๆ คือ ความผิดปกติของขากรรไกร และการขึ้นของฟันที่ผิดปกติ โดยฟันกัดคร่อมจะทำให้ดูไม่สวยงาม และส่งผลให้ฟันบดเคี้ยวอาหารได้แย่ลง

6. ฟันล่างยื่น (Underbite)
ฟันล่างยื่น เป็นลักษณะของฟันล่างที่ยื่นออกมามากเกินไป มักเกิดจากการเรียงตัวของฟันที่ผิดปกติ หรือเกิดจากความผิดปกติของกระดูกขากรรไกร ในคนที่ฟันล่างยื่นมาก ๆ อาจกัดเหงือกจนทำให้เกิดแผลได้

7. ฟันบนยื่น (Overbite)
ฟันบนยื่น เป็นลักษณะของฟันบนที่ยื่นออกมามากเกินไป มีสาเหตุเหมือนกับฟันล่างยื่น และอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงอย่างการกัดเหงือกจนเป็นแผลได้เช่นกัน